วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งเสริมและขัดขวางโอเพนซอร์ส ในประเทศไทย

ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งเสริมและขัดขวางโอเพนซอร์ส ในประเทศไทย
มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้รายงานผลการศึกษาการส่งเสริมและการพัฒนาโอเพนซอร์ส ต่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (2553) ถึงปัจจัยที่มีผลต่อการส่งเสริมและขัดขวางการพัฒนาและการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ในประเทศไทย ไว้ดังนี้
1. ความรู้และความเข้าใจซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส นอกเหนือจากคุณสมบัติด้านราคาของซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส แล้ว คุณภาพและเสถียรภาพของซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส เป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ใช้เลือกที่จะใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส การสื่อสารให้เกิดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณภาพของซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ซึ่งปัจจุบันมีคุณภาพสูงเพียงพอต่อการใช้งานจริงแล้ว จะช่วยให้เกิดการใช้งานซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส แพร่หลายยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังมีการเข้าใจผิดว่าการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ไม่จำเป็นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ อีก ทั้งที่แท้จริงแล้วซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ไม่มีค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าลิขสิทธิ์การใช้งานเท่านั้น ค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานซอฟต์แวร์ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ใช้งานซอฟต์แวร์จำเป็นจะต้องจ่าย ไม่ว่าจะใช้งานซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส หรือซอฟต์แวร์ให้สิทธิการใช้ก็ตาม ความเข้าใจผิดในส่วนนี้มีผลกระทบต่อธุรกิจซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ซึ่งมีผลต่อเนื่องมาถึงชุมชนผู้ใช้โอเพนซอร์ส ในประเทศไทยด้วย การใช้งานซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส เพียงแต่ทำให้ต้นทุนโดยรวมต่ำลง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการบริการ และการบริการที่เกิดขึ้นโดยปกติแล้วเป็นบริการจากสมาชิกของชุมชนโอเพนซอร์ส
2. นโยบายในการใช้ซอฟต์แวร์ของภาครัฐ การส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส และการสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส แทนซอฟต์แวร์ให้สิทธิการใช้ จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปมีความสนใจและยอมรับซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส มากขึ้น นอกจากนั้นในประเทศไทยภาครัฐเป็นลูกค้าสำคัญในตลาดซอฟต์แวร์ หากภาครัฐเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส จะสามารถกระตุ้นตลาดซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ได้มาก
3. ขอบเขตของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับใช้กฎหมาย ในประเทศไทยไม่เข้มงวด มีผลทำให้มีการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในอัตราสูง สามารถพบเห็นการจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่ พร้อมกับติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มาให้พร้อมได้ทั่วไปเป็นปกติในสังคมไทย ผู้ใช้ซอฟต์แวร์สามารถใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์โดยเสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยหรือไม่ต้องเสียเลย เป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป อย่างไรก็ตามการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในอนาคตจะทำได้ยากขึ้น ตามแรงกดดันของเจ้าของลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ ด้วยเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถมั่นใจได้แล้วว่า กระบวนการครอบงำทางเทคโนโลยีสารสนเทศ บรรลุผลและถึงเวลาที่จะต้องกลับมาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์แล้ว
4. การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้อย่างกว้างขวางและราคาถูก เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส แพร่หลายยิ่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากการร่วมมือการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ใช้บริการจากอินเทอร์เน็ต มีการสื่อสารในชุมชนโอเพนซอร์ส ผ่านอีเมล์และเว็บไซต์ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้สะดวกจะทำให้ความสามารถในการร่วมพัฒนาโอเพนซอร์ส เกิดขึ้นได้มากขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นไปได้ยาก ก็จะเป็นอุปสรรคที่สำคัญของนักพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส
5. การจัดการด้านการศึกษาเทคโนโลยีสารสนเทศ มีความสำคัญต่อการใช้และพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ควรมีสถาบันทางการศึกษาหรือฝึกอบรมทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ส่งเสริมการใช้และพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส เพื่อขจัดปัญหาหลักเรื่องความไม่คุ้นเคยและความรู้สึกยุ่งยากในการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ของผู้ใช้ซอฟต์แวร์ทั่วไป นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอให้มีสถาบันอุดมศึกษาที่สอนเกี่ยวกับเทคโนโลยีและเทคนิคการพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้และการพัฒนาให้แก่ประชากรในประเทศ จะช่วยให้การปรับใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางมากขึ้นในประเทศ
6. การสนับสนุน (Support) หลังจากการเปลี่ยนแปลงมาใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส การใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส จำเป็นต้องมีการดูแลและปรับปรุงคุณภาพ (Upgrade) หลังจากการติดตั้งซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส การขาดการสนับสนุน ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุต่างๆ เช่น ทักษะของบุคลากรด้านสารสนเทศไม่เพียงพอ หรือขาดการสนับสนุนจากผู้ให้บริการ เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส
7. นักพัฒนาที่มีทักษะภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาหลักการพัฒนาซอฟต์แวร์ ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษที่ดี เป็นเครื่องมือสำคัญของนักพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส
8. นักพัฒนาที่มีทักษะหรือได้รับการอบรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มีผลต่อความสำเร็จในการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส การสร้างกลุ่มนักพัฒนาที่มีทักษะหรือจัดการฝึกอบรมเพื่อให้เกิดกลุ่มนักพัฒนาโอเพนซอร์ส เพื่อร่วมการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส จึงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส
จากเหตุปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวถึง ได้มีข้อเสนอแนะทางนโยบายและยุธศาสตร์ในการส่งเสริมการพัฒนาและการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ในประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จสามข้อ ซึ่งประกอบด้วย
หนึ่ง นโยบายด้านเทคโยโลยีสารสนเทศของภาครัฐ อันประกอบด้วยนโยบายการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ในภาครัฐ นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างซอฟต์แวร์ภาครัฐ นโยบายการส่งเสริมให้ภาคเอกชนหันมาใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส และนโยบายให้มีการขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้มากขึ้น
สอง ให้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ทั้งนี้เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส และ
สาม ส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโอเพนซอร์ส

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่าเคยมีข้อเสนอเพื่อการพัฒนาโอเพนซอร์ส ในทำนองเดียวกันนี้บ่อยครั้ง แต่ผลลัพธ์ที่ได้จากการสนับสนุนส่งเสริมโอเพนซอร์ส ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก การส่งเสริมเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจและเทคนิค อย่างที่ผ่านๆ มา ไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการพัฒนาโอเพนซอร์ส ขึ้นมาได้ ทั้งนี้เนื่องจากยังขาดองค์ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ที่เกี่ยวกับคน และองค์ประกอบอื่นเช่น ชุมชนโอเพนซอร์ส ในประเทศไทยยังไม่เคยมีผลงานการศึกษาทางด้านนี้ปรากฏมาก่อน แต่ในต่างประเทศมีผู้ให้ความสนใจและทำการศึกษากันบ้างแล้ว

My Pix

My Pix
คลังรูปภาพ